วันที่ 20 พ.ย. 2022 ฟุตบอลโลกที่ประเทศกาตาร์ หรือ FIFA World Cup Qatar 2022 จะเริ่มการแข่งขัน ถือเป็นครั้งแรกของฟุตบอลโลกที่เตะในพื้นที่ตะวันออกกลาง และเตะในช่วงปลายปี จากปกติที่เตะช่วงกลางปี หากอ้างอิงข้อมูลล่าสุดในวันที่ 4 ส.ค. 2022 จาก FIFA จะพบว่า หลายประเทศมีการประกาศเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหกรรมฟุตบอลครั้งนี้แล้ว แต่ไม่มีใครถือสิทธิ์นี้ในประเทศไทย
ติดข้อกฎหมาย หรือข้อเสนอไม่จูงใจเอกชนจริง ๆ Brand Inside อยากชวนมาวิเคราะห์ และลุ้นไปด้วยกันว่าสุดท้ายคนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกที่กาตาร์แบบถูกลิขสิทธิ์ และต้องให้ทหารมาช่วยเหมือนครั้งก่อน ๆ อีกหรือไม่?
ฟุตบอลโลก มหกรรมกีฬาที่มีปัญหาในไทย
หากย้อนไปหลายสิบปีก่อน การแข่งขันฟุตบอลโลกถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย สื่อ และแบรนด์สินค้าต่างเกาะกระแสนี้เพื่อปั้นยอดผู้ชม และยอดขาย แต่ไม่ใช่กับฟุตบอลโลก 2 ครั้งล่าสุดที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมีปัญหา และต้องลุ้นจนเกือบถึงวันสุดท้ายว่าจะได้รับชมทุกแมตช์การแข่งขันหรือไม่
เช่น ฟุตบอลโลกปี 2014 ที่จัดขึ้นในประเทศบราซิล อาร์เอส เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด โดยหวังขายกล่องรับชม และพื้นที่สปอนเซอร์เพื่อสร้างรายได้ แต่สุดท้าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาแทรกแทรงเพื่อขอให้ อาร์เอส ปล่อยให้มีการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี ซึ่งสุดท้าย อาร์เอส ต้องยอมทำตาม
รวมถึงฟุตบอลโลกปี 2018 ที่จัดขึ้นในประเทศรัสเซีย ซึ่งเวลานั้นเอกชนไม่กล้าที่จะซื้อลิขสิทธิ์ เพราะกลัวจะเป็นเหมือน อาร์เอส ทำให้สุดท้ายเกิดการลงขันของบริษัทเอกชน 9 ราย เช่น บีทีเอส, กลุ่มไทยเบฟเวอร์เรจ, กลุ่มซีพี, กลุ่มคาราบาว และธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น แต่สุดท้ายก็ไม่คึกคัก แม้เวลาถ่ายทอดสดจะง่ายต่อการรับชม
ทำไมถึงไม่มีคนกล้าซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอด
สำหรับฟุตบอลโลกปี 2022 ถึงตอนนี้ยังไม่มีบริษัทใดซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมหกรรมกีฬานี้ ถ้าให้วิเคราะห์ง่าย ๆ ทุกคนก็คงกลัวเหมือน อาร์เอส ที่อยู่ ๆ คสช ก็มาบังคับให้ถ่ายฟรีทีวี หรือคล้ายกับปีที่รัสเซียที่ไม่คึกคัก แถมเม็ดเงินโฆษณาก็วนอยู่กับแค่ 9 รายที่ลงขันกันซื้อลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาทมา
ประกอบกับฟุตบอลโลกอาจดูไม่ขลัง และเป็นความบันเทิงที่ดึงดูดผู้ชมได้เหมือนในอดีต กล่าวคือปัจจุบันมีความบันเทิงมากมายที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เช่น บริการสตรีมมิง, เกม E-Sports หรืออื่น ๆ ไม่ได้มีทางเลือกน้อยเหมือนในอดีตที่ไม่ดูละครก็อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน
เมื่อต้องลงทุนสูง ความคาดหวังก็สูงตาม เพราะการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกไม่ได้ทำโดยไม่หากำไรแน่ ๆ ยิ่งพึ่งผ่านช่วงโรคโควิด-19 ระบาด, ภาวะเงินเฟ้อ และเศรฐกิจชะลอตัว การจะลงทุนเม็ดเงินเยอะ ๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำเงินได้หรือไม่ย่อมเป็นความเสี่ยงที่รับได้ยากในช่วงเวลานี้
แล้วประเทศอื่น ๆ มีการซื้อลิขสิทธิ์กันหรือไม?
หากอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 2022 จาก FIFA จะพบว่า หลายประเทศมีการซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาดังกล่าว โดย FIFA แบ่งลิขสิทธิ์เป็น 4 ประเภทคือ ถ่ายทอดทางโทรทัศน์, วิทยุ, โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต เช่น อินเดีย มี Viacom18 ทุ่มเงินกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามยังมีบางประเทศที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์กีฬานี้เช่นกัน อาทิ เวียดนาม ที่มีรายงานว่าทางตัวแทนเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ 570 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าครั้งก่อนหน้านี้ถึงเท่าตัว ทำให้บริษัทเอกชนยากที่จะตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้สิงคโปร์ก็ยังไม่มีรายชื่อว่าใครซื้อลิขสิทธิ์ด้วย
เรียกว่าเศรษฐกิจซบเซา แต่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการขายราคาแพงขึ้น มันก็ยากที่จะจูงใจผู้ซื้อ และกลายเป็นความทุกข์ของผู้ที่ชื่นชอบฟุตบอล และอยากรับชมง่าย ๆ แบบถูกลิขสิทธิ์ เพราะสุดท้ายก็ไม่มีใครซื้อให้ดู ต้องรอลุ้นจนถึงเกือบสัปดาห์สุดท้ายก่อนการแข่งขันเริ่ม
รัฐบาลอาจเป็นคำตอบสุดท้ายของปัญหานี้
จากปัจจัยลบทั้งหมดจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเป็นผู้จบปัญหานี้อีกเหมือนที่ทำกับมหกรรมกีฬาฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโร จะเป็นวิธีล้วงลูกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย หรือบีบให้เอกชนซื้อลิขสิทธิ์ก็สุดแท้แต่ เพราะที่แน่ ๆ รัฐบาลไทยคงไม่ตัดสินใจใส่เงินเข้าไปเองแน่ ๆ ผ่านการต้องประหยัดงบประมาณ และถ้าเอามาใช้กับเรื่องไม่เป็นเรื่องน่าจะถูกสังคมติเตียนไม่น้อย ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่าทางรัฐบาลน่าจะเริ่มหารือกับบริษัทเอกชนเพื่อเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกแล้ว
จึงเชื่อว่า คนไทยจะได้รับชมฟุตบอลโลกที่จะเตะขึ้นในวันที่ 20 พ.ย. 2022 แน่นอน แต่จะผ่านช่องทางใด และรู้จริง ๆ เมื่อไรอันนี้ต้องลุ้นกันหน่อย เพราะอย่างฟุตบอลยูโร 2020 กว่าจะรู้ว่าได้สิทธิ์ถ่ายทอดก็ต้องรอก่อนเริ่มแข่งขันเพียง 30 ชม. แถมรัฐบาลยังออกมายืนยันด้วยว่า ไม่มีการจ่ายเงินภาษี มีเพียง Aerosoft ที่สนับสนุนเท่านั้น